87 คนดู · 21 Feb 2024
#ประเทศไทย#ชัยนาท#หันคา#แหล่งท่องเที่ยว วัดไกลกังวลเป็นวัดราษฎร์ สังกัดนิกาย มหานิกาย ตั้งอยู่บนเขาสารพัดดี บ้านไร่สวนลาว เลขที่ ๑๔๕ หมู่ที่ ๗ ตำบลบ้านเชี่ยน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ๑๗๑๓๐
ด้านตะวันตกติดกับเขาดินสอ ถัดจากเขาดินสอมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นเขาหนองสอด ด้านเหนือเป็นหมู่บ้านบ้านไร่สวนลาว ส่วนทางทิศตะวันออก เป็นหมู่บ้านหนองทาระกู และคลองชลประทานอู่ทอง – มะขามเฒ่า บรรยากาศร่มรื่นไปทั้งภูเขามีต้นไม้นานาพันธุ์ ทั้งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติและปลูกขึ้นภายหลัง มีรั้วรอบขอบชิดด้วยกำแพงคอนกรีตถาวรสูง ๓.๗๐ เมตร ยาวรอบภูเขา ๕ กิโลเมตร ซึ่งนับว่า เป็นกำแพงวัดที่ยาวที่สุด และมีกำแพงล้อมป่าปลูกด้านทิศเหนืออีกราว ๒ กิโลเมตร
ได้รับอนุญาตให้ยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช ๒๕๑๘ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ ทำการบรรพชาอุปสมบทกุลบุตรได้ เนื้อที่ของวัดตาม สค. ๑ เลขที่ ๒๐๒ จำนวน ๑๐๐ ไร่เศษ
ทิศเหนือ ยาว ๑๐ เส้น ติดต่อบ้านนายนิล ดวงแก้ว
ทิศใต้ ยาว ๑๐ เส้น ติดต่อเขาสารพัดดี
ทิศตะวันออก ยาว ๑๐ เส้น ติดต่อบ่อซับน้ำ
ทิศตะวันตก ยาว ๑๐ เส้น ติดต่อเขาดินสอ
ยังมีที่ธรณีสงฆ์ เนื้อที่ ๓๒๔ ไร่ จากหลักฐานกองศาสนสมบัติ กรมการศาสนา ปี ๒๕๒๑ และได้ซื้อเพิ่มเติมเพื่อปลูกป่าถาวร และอนุรักษ์สัตว์ป่าราว ๒,๔๐๐ กว่าไร่ มีศาลา กุฏิ วิหาร พร้อมรับผู้เข้ามาปฏิบัติจากทั่วทุกสารทิศ ครั้งละมากกว่า ๑,๐๐๐ ชีวิตอย่างเพียงพอ มีธรรมานุศาสน์ และธรรมชาติเจริญหูเจริญตาตลอดเวลา พระสงฆ์องค์เณรทรงศีลสิกขาหมดจดและมั่นคงในธุดงควัตร ในรูปแบบที่ทั่วๆ ไป เรียกกันว่า “วัดพระป่า” หรือว่า “วัดพระปฏิบัติกัมมัฏฐาน” (สมเด็จพระสังฆราช, สา)
ความเป็นมา
วัดไกลกังวล ตามกองโบราณคดี กรมศิลปากร พิสูจน์แล้วว่าสร้างขึ้นในสมัยลพบุรี (พุทธศักราช ๑๐๐๒ หนึ่งพันห้าร้อยกว่าปีที่แล้ว) แต่กลายเป็นวัดร้างมากี่ร้อยปีหรือถูกทะนุบำรุงขึ้นกี่ครั้งนั้นยังมิอาจค้นพบได้ ในละแวกใกล้เคียง เช่น ทิศเหนือ ด้านเชิงเขาลงไปใกล้บ้านสวนลาว มีวัดวิหารเก้าห้อง ซึ่งมีเจดีย์เก่าเป็นหลักฐานและบนยอดเขาหนองสอด ก็มีเจดีย์ปรากฏเช่นกัน ส่วนทิศตะวันออก ตีนเขาพื้นราบก็มีวัดเก่า เรียกว่า วัดไกรลาศ (ไกรราษฎร์หรือหนองทาระภู) (ปัจจุบัน คือ วัดเทพหิรัณย์) โบราณสถานดังกล่าวเหล่านั้น สร้างในสมัยลพบุรีทั้งสิ้นลักษณะวัสดุก่อสร้างที่เหลือให้เห็น เป็นซากเจดีย์ซึ่งก่อด้วยอิฐหนาใหญ่ยาว ส่วนเศษกระเบื้องดินเผาที่เหลือเห็นชัด ก็คือ ตะขอกระเบื้อง มีลักษณะงอแหลมยาวราวนิ้วชี้เห็นจะได้ ส่วนอื่นๆ ที่เหลือเป็นส่วนองค์พระพุทธรูปแกะด้วยหินทรายแดง เช่น เศียร แขน และหน้าตัก ฯลฯ ส่วนฐานเจดีย์นั้นเป็นหลุมลึกลงไป เพราะสมัยนั้นนักนิยมของเก่าได้ฝากฝีมือไว้
เล่ากันสืบมาว่า เมื่อวัดไกลกังวลตกอยู่ในสภาพรกร้างนั้น ทายกทายิกา บ้านใกล้เรือนเคียงได้ช่วยกันนำพระพุทธรูปและโบราณวัตถุที่มีอยู่ไปไว้วัดที่มีพระสงฆ์ เช่น หลวงพ่อแดง อยู่ที่วัดประชุมธรรม (ทับนา), หลวงพ่อดำ วัดหนองทาระภู, พระพุทธมาลีศรีเนินขาม วัดเนินขาม และระฆังอยู่ที่วัดหนองแจง ทั้ง ๔ วัดอยู่ในอำเภอหันคาเช่นกัน พระพุทธรูปและโบราณวัตถุเหล่านี้ล้วนศักดิ์สิทธิ์ มีผู้เคารพนับถือกันมาก จนกลายเป็นสมบัติคู่วัดคู่บ้านไปในที่สุด
อย่างไรก็ดี เมื่อมองดูภาพความรุ่งเรืองในอดีตแล้ว ต้องขอยกสองมือประนมอนุโมทนาแก่พุทธบริษัทในสมัยบรรพกาลที่ดำรงมั่นในพระพุทธศาสนา ได้ร่วมกันสร้างอารามเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เพื่อเพิ่มทาน ศีลและภาวนาบารมีให้แก่ตนและอนุชนรุ่นหลัง อันเต็มไปด้วยวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่งยวด แต่สามัญลักษณะมี อนิจจัง เป็นต้น ทำให้ทุกอย่างมีเกิดขึ้นและหมดไปเป็นธรรมดา เป็นไปตามกาลและตามอายุขัย เป็นอยู่นานเท่าไรไม่อาจหยั่งรู้ได้
คราฟ้าสาง
พุทธศักราช ๒๔๗๔ ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ หรือสงคราม “มหาเอเชียบูรพา” วัดร้างรกชัฏแห่งนี้ได้ถูกสร้างขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง นำโดย พระชนก ปุญฺญวฑฺฒโน (ชนก นาคสังข์) ภายหลังได้รับแต่งตั้งเป็นพระใบฎีกาชนก เป็นพระฐานานุกรมในพระครูวิจิตรชัยการ (ปลั่ง ยสวํโส) เจ้าคณะอำเภอบ้านเชี่ยนในขณะนั้น ซึ่งท่านเป็นพระพื้นถิ่น และทราบว่าบนเขามีร่องรอยของวัดอยู่แล้ว เมื่อท่านลัดเลาะป่าทึบมาสำรวจอีกครั้งหนึ่ง จึงตัดสินใจว่าจะทำวัดร้างแห่งนี้ให้ฟื้นมาให้จงได้
ในสมัยนั้น ละแวกนี้ยังมี หมี เสือ เก้ง ละมั่ง งูเหลือม งูจงอาง อยู่มาก ตรงนี้จึงเป็นที่วิเวกสงบเหมาะแก่ผู้มาบำเพ็ญพรต เพียรปฏิบัติธรรม ซึ่งท่านเองก็ชอบอยู่เป็นทุน เมื่อท่านปรารภเรื่องนี้ ชาวบ้านต่างก็เห็นด้วยจะได้มีวัดใกล้บ้าน ได้มาทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล และปฏิบัติธรรมสะดวก ในที่สุดต่างรวบรวมกำลังกายกำลังทรัพย์ สร้างกุฏิและศาลาทำบุญ ขึ้น จากชาวบ้านบ้านไร่สวนลาว อ่างหิน มะขามเฒ่า หัวนา ทับนา บ่อม่วง ดอนกอก ดอนโก คลองขาด บ้านเชี่ยน หัวตอ ฯลฯ
บรรพบุรุษเหล่านั้น เช่น นายนวม คำแหง, นายไพ่ พึ่งเจียม, นายพิน-นางเล็ก แก้วอินทร์, นายนิล-นางธูป ดวงแก้ว, นายหยวก, นายชั้น, นายด่วน, หมอเล็ก, นายอ่อน, นายหิน, นายหัน บ้านหัวนา, นายคล้อย, ผู้ใหญ่เชิง บ้านมะขามเฒ่า, นางเปี่ยม, และนางสิน เป็นต้น เพียงไม่กี่วันงานก็บรรลุถึงเป้าหมาย สมดังคำภาษิต
สัพเพสัง สังฆะภูตานัง สามัคคี วุฑฒิสาธิกา
ความพร้อมเพรียงของปวงชนผู้เป็นหมู่ ยังความเจริญให้สำเร็จ
(สมเด็จพระสังฆราช, สา)
เมื่อมีกุฏิ ศาลา ห้องครัวแล้ว พระใบฎีกาชนกก็จำพรรษาและตั้งชื่อว่า วัดไกลกังวล ตั้งแต่นั้นมา ทุกๆ ปีจะมีพระจำพรรษา ๒ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง และมีถึง ๕ รูปบ้าง แต่บางปีก็มีพระใบฎีกาชนกเพียงรูปเดียว
สร้างเทศกาล
เขาสารพัดดีนั้นมีชื่อเสียงมายาวนาน อย่างน้อยหน่อไม้ก็อร่อย รสหอมหวานไม่มีรสขม ไม้ตะพดซึ่งได้จากไม้รวกตันที่เขาสารพัดดี ใครที่อยู่ยงคงกระพันยิงไม่ออกฟันไม่เข้า ถ้าโดนเข้าไปแล้วเป็นอันเลือดสาดทุกราย และยังป้องกันภูตผีปีศาจคุณไสยได้อีกด้วย พระชนก ปุญฺญวฑฺฒโน ดำริให้มีงานตักบาตรเทโวโรหณะ (วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก) ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันในต่างอำเภอและต่างจังหวัด ภาพความงามของพระสงฆ์จำนวนหลายสิบรูป เดินลงจากเขา แลดูคล้ายดังพระภิกษุเดินตามพระพุทธองค์ลงมาจากดาวดึงส์สู่เมืองสังกัสสะนคร ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑
สำหรับงานตักบาตรเทโวโรหณะนี้ ได้มีผู้ผูกเป็นเพลงร้องฟังไพเราะเพราะพริ้งจนมีคนจำกันติดปากว่า
“ถึงเดือนสิบเอ็ดแรมสามค่ำเขาก็ทำกันโก้ มีตักบาตรเทโวกันออกวุ่นวาย ไปนิมนต์พระสงฆ์ออกมายืนเป็นเส้าล้วนพระลาวพระไทย ต่างอุ้มบาตรยืนเบิ่ง คนก็คอยตักบาตรมีพระหลายวัดรวมกันเข้าไว้เดือนสิบเอ็ดเสร็จจากแรมสามค่ำ ตักบาตรกรวดน้ำไปถึงพิสังคนตาย ... ฯลฯ”
ตามเนื้อเพลงนี้บ่งไว้ชัดเจนว่า กำหนดเทศกาลเทโวฯ ประจำปีของวัดไกลกังวลมีขึ้นในวันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งไม่ตรงกับวัดอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง และได้กระทำสืบเนื่องมาเป็นประเพณีจนถึงบัดนี้ ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงกำหนดการเป็นวันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ แทน
เมื่อสร้างวัดมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ทายกทายิกาเข้าวัดเพิ่มขึ้นจึงจำเป็นต้องสร้างแท็งก์น้ำคอนกรีต ซึ่งยังซ่อมแซมใช้อยู่ยังปัจจุบัน และได้สร้างรอยพระพุทธบาท ๔ รอยจำลองบนยอดเขาด้านตะวันตกของเจดีย์เก่ามีขนาดกว้าง ๔ เมตร ยาว ๖ เมตร วิจิตรพิสดารมาก ซึ่งไม่ทราบว่าช่างที่ไหนมาแสดงฝีมืองานก่อสร้าง ๒ ชิ้นนี้ ซึ่งต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องออกเรี่ยไรสมัยนั้น การออกเรี่ยไรจะต้องขออนุญาตจากทางการเสียก่อน และไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งอนุญาตในเวลาจำกัด กว่าจะเสร็จต้องขอต่อใบอนุญาตหลายครั้ง แต่
“วิริเยนะ ทุกขะมัจเจติ”
“คนจะล่วงทุกข์(ผ่านปัญหา)ได้ เพราะความเพียร” (ขุ.สุ.)
พระใบฎีกาชนกเดินทางไปเรี่ยไรเงินในกรุงเทพฯ ค้างกับพระมหาอาจ อาสโภ ภายหลังเป็นพระพิมลธรรม และได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ และที่นี่ท่านเคยจำพรรษาด้วย ท่านเรี่ยไรทั้งในกรุงเทพฯ และชานเมือง ทั้งยังได้เข้าพบ ฯพณฯ พอ.พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น (พุทธศักราช ๒๔๗๖) และได้ร่วมบุญมาหลายชั่ง (ราว ๒๐๐ กว่าบาท) การก่อสร้างวัดไกลกังวลสำเร็จด้วยดี คนมีกำลังศรัทธาเข้าวัดกันมากมาย ผ้าป่า กฐิน เทโวฯ ดูอุ่นหนาคลาคล่ำไปด้วยผู้ใคร่ในธรรม แต่ก็เป็นอยู่เช่นนี้เพียงไม่กี่ปี สภาพบ้านเมืองได้เปลี่ยนไปเนื่องจากภัยสงครามโลกครั้งที่ ๒
อนิจจัง ก็เข้ามาเยือนอีกครั้ง จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี สภาพข้าวยากหมากแพง ทำให้เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมจี้ปล้นมีทุกหัวระแหง ชาวบ้านในหมู่บ้านเล็กๆ ต้องทิ้งบ้านเรือนไปอยู่หมู่บ้านที่ใหญ่กว่า หรือในตลาด ในที่สุดพระผู้อาศัยจรภิกขาจารจากชาวบ้านก็ลำบากยิ่งขึ้น จนไม่มีพระในวัดไกลกังวลนี้อีกวาระหนึ่ง ความรกร้างมืดครึ้มก็เข้ามาแทนที่อีกครั้งจนได้ ถังคอนกรีตและรอยพระพุทธบาท ๔ รอย ก็ทำหน้าที่เก็บกักน้ำตามหน้าที่ โดยมีสัตว์และคนมาอาศัยบางครั้งบางคราว แต่ภายหลังกลายเป็นที่อยู่ของพวกโจรปล้นและเรียกค่าไถ่อยู่ระยะหนึ่ง
เหล่าโจรที่ดังๆ สมัยนั้นก็มี เสือดำ เสือฝ้าย เสือมเหศวร เสือเขียว เสือย่อม เสือสนธิ์ เสือผาด เสือใหญ่ๆ ไม่ก่อกรรมทำเข็ญเท่าไร แต่พวกลูกน้องเสือ หรือเรียกพวกเสือนก เสือปลา มักปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์จับเรียกค่าไถ่ ชาวบ้านไปไหนมาไหนต้องระวังตัว ทำมาหากินก็ลำบากขัดสน
หลวงพ่อสังวาลย์ เล่าให้ฟังว่า มีอยู่คราวหนึ่ง เสือฝ้ายจับตัวแม่แตงอ่อน สาวงามแห่งบ้านหนองผักนาก ตำบลหนองผักนาก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ไปเรียกค่าไถ่โดยกักตัวไว้ที่เขาสารพัดดี ด้วยเหตุเพราะไม่ไว้วางใจคนที่ไม่มีศีลสัตย์ จึงต้องให้พระอาจารย์โหน่ง (อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองผักนาก) เป็นผู้นำเงินไปไถ่ตัว จึงได้สาวงามกลับคืนมา
ด้วยเหตุนี้ ภิกษุเลยต้องหลบลี้หนีภัยไปด้วย บ้านก็ร้าง วัดก็ร้างตามกันไป พระใบฎีกาชนกและลูกวัดต้องย้ายไปอยู่วัดบ้านเชี่ยนระยะหนึ่ง แล้วได้ลาสิกขาไปเป็นทายก เรียกกันว่า “อาจารย์นก” สืบมา จะว่ากันไปพระพุทธศาสนาจะอยู่ได้ใช่เพียงการเจริญทางวัตถุก็หาไม่ แต่การที่ชาวพุทธยังขวนขวายในกิจของศีลธรรม นับเป็นแก่นแท้ที่เอาไว้วัดความเจริญ “ชนผู้ไม่เกียจคร้านขุดหลุมทรายในท้องลำห้วยแห้งในที่ลุ่มแล้วพบน้ำฉันใด มุนีผู้ประกอบด้วยกำลังแห่งความเพียร ย่อมถึงความชุ่มเย็น คือความสงบฉันนั้น” ส่วนกฎแห่งการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ก็ยังดำเนินต่อไป หมู่เสือน้อยใหญ่ก็ถูกกองปราบส่งกลับไปอยู่กับพระยายม บ้านเมืองก็สงบเย็นได้อีกครั้งหนึ่ง
ความมัวในหมอกเมฆ
เมื่อวัดไกลกังวลกลับสภาพย้อนยุคอีกครั้ง จำเนียรกาลนานเนิ่นก็กลายเป็นถิ่นที่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนคนรุ่นเก่าๆ เล่ากันสืบมา น้อยคนนักที่บุกป่ารกทึบจนถึงยอดเขา เพราะเกรงกลัวจะเผชิญกับ... “ชาวลับแล”